วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2554

วัดนิตไทยจิ (วัดไทย-ญี่ปุ่น) nittai-ji temple

ประวัติของวัดนิตไทยจิ (วัดไทย-ญี่ปุ่น)
เมืองนาโงยา ประเทศญี่ปุ่น

            เมื่อปีพ.ศ. 2441 นักโบราณคดีชาวอังกฤษได้ขุดค้นโบราณสถานทางเหนือของอินเดียใกล้กับเนปาลแล้วค้นพบอัฐิธาตุของมนุษย์ บรรจุไว้ในโถซึ่งมีจารึกอักษรโบราณในสมัยหลังพุทธกาลราว 3 ศตวรรษ

            ครั้นถอดความได้สำเร็จ ปรากฏว่าข้อความนั้นยืนยันว่า อัฐิธาตุนั้นคือ พระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จ พระบรมศาสดา ศากยมุนีพุทธเจ้า การค้นพบครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของเอเชีย เพราะเป็นการยืนยันว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลที่มีอยู่จริง ยังผลให้ประวัติศาสตร์ที่เคยเชื่อกันในหลายวงการว่า พระพุทธเจ้ามิได้เป็นมนุษย์ในโลกนี้ เป็นอันสิ้นสุดไป

            โดยที่รัฐบาลอังกฤษที่ปกครองอินเดียอยู่ในเวลานั้น เห็นว่าพระบรมสารีริกธาตุที่แท้เช่นนี้ เป็นของมีค่าอย่างหาที่สุดมิได้สำหรับพุทธศาสนิกชน และเห็นว่าพระเจ้ากรุงสยามเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกพระองค์เดียวที่เหลืออยู่ในโลกเวลานั้น เพราะประเทศสยามเป็นพุทธจักรที่เป็น เอกราชอยู่หนึ่งเดียวเท่านั้น รัฐบาลแห่งอินเดียจึงถวายพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าวแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงรับมาประดิษฐานไว้บนพระเจดีย์ที่ยอดของพระบรมบรรพต(ภูเขาทอง) วัดสระเกศ ในกรุงเทพฯ

            ต่อมาได้มีสมณทูตจากประเทศต่างๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนา รวมทั้งรัฐบาลญี่ปุ่น ขอส่วนแบ่งแห่ง พระบรมสารีริกธาตุดังกล่าว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปันพระบรมสารีริกธาตุไปยังประเทศนั้นๆ สำหรับญี่ปุ่นได้พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุแก่พุทธศาสนิกชนชาวญี่ปุ่นโดยรวม โดยไม่จำเพาะเจาะจงให้กับนิกายใดเป็นการเฉพาะ

            ฝ่ายพุทธศาสนิกชนชาวญี่ปุ่นได้ส่งตัวแทนจากพุทธนิกายไปยังกรุงเทพฯ เพื่ออัญเชิญ พระบรมสารีริกธาตุมายังประเทศของตน และได้รับพระราชทานเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2443 โดยคณะสมณทูตได้กราบบังคมทูลว่า จะสร้างพระเจดีย์ขึ้นใหม่เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการรวมนิกายต่างๆ และเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระพุทธรูปโบราณ และพระราชทรัพย์เพื่อสร้างวัดใหม่นั้นด้วย พระพุทธรูปองค์นี้งามวิจิตรพิศดาร และมีอายุเก่าแก่ ว่าเป็นศิลปะคู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่งของประเทศสยามขณะนั้น

            เมื่อคณะสมณทูตญี่ปุ่นกลับมาจากประเทศสยาม ได้ปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างต่างนิกาย แล้วตกลงเลือกสร้างวัดและพระเจดีย์ที่เมืองนาโงยา เพราะชาวเมืองเรียกร้องต้องการมากที่สุด จึงได้มีการก่อสร้างวัดนิตไทยจิ (วัดไทย-ญี่ปุ่น) ขึ้นที่เลขที่ 1-1 โฮโอโจ เขตจิคุซา เมืองนาโงยา จังหวัดไอจิ ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 15พฤศจิกายน พ.ศ. 2447

            สถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุนั้น ศาสตราจารย์จูตะ อิโต แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียวเป็นผู้ออกแบบและสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2461 พระสถูปศิลาองค์นี้ถือเป็นผลงานชิ้นเอกของศาสตราจารย์อิโต และได้รับการยอมรับในประเทศญี่ปุ่นในเวลาต่อมาว่างดงามทางพุทธสถาปัตยกรรมอย่างยิ่ง

            พระวิหารซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งรับพระราชทานมาจากประเทศสยามนั้น ได้รับการก่อสร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2527 เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จึงทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระพุทธรูป ภปร. เพิ่มมาอีกหนึ่งองค์ พร้อมทั้งทรงเขียนลายพระราชหัตถ์เพื่อช่างจารึกลงบนป้ายไม้ด้วยลายจำหลักทองชื่อ “พระพุทธศากยมุนี” โดยมีพระปรมาภิไธยย่อของพระองค์เอง และของพระบรมอัยกาธิราชประกอบอยู่ 2 ด้านของแผ่นป้าย ป้ายดังกล่าวประดิษฐานอยู่เหนือประตูทางเข้าพระวิหารในขณะนี้

            วัดนิตไทยจิ หรือวัดไทยญี่ปุ่น เป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศทั้งสอง และเป็นวัดที่มีเอกลักษณ์เป็นพิเศษทางพุทธศาสนาของญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นวัดเดียวที่รวมนิกายต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยไม่ถือว่าสังกัดนิกายใดนิกายหนึ่ง เจ้าอาวาสของวัด ใช้ระบบสับเปลี่ยนให้ หัวหน้าสงฆ์จาก 19 นิกายดำรงตำแหน่งวาระ ละ 3 ปี

            โดยที่วัดนิตไทยจินี้ก่อตั้งขึ้นจากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธรูปให้กับพุทธศาสนิกชนชาวญี่ปุ่น จึงถือได้ว่า มีความใกล้ชิดกับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชวงศ์ของไทยเป็นพิเศษ และราชวงศ์ของไทยหลาย พระองค์ได้เสด็จฯยังวัดแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ได้เสด็จฯ ยังวัดนิตไทยจิ ในระหว่างการเสด็จฯ เยือนประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2474 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ ที่วัดนิตไทยจิ เมื่อปี พ.ศ. 2506 และเมื่อปี พ.ศ. 2530 ในโอกาสเฉลิมฉลอง 100 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น วัดนิตไทยจิได้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานที่บริเวณหน้าพระวิหาร ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จฯ มาทรงเปิดแพรคลุมพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2530

            นอกจากนี้ ในวันปิยะมหาราช หรือตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เจ้าหน้าที่หน่วยงานไทย และชุมชนไทยในประเทศญี่ปุ่น จะร่วมกันถวายสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ณ วัดแห่งนี้ด้วย

            วัดนิตไทยจิได้ฉลองครบรอบ 100 ปี ของการได้รับพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธรูปจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2543 และได้ฉลองครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งวัดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547


เรียบเรียงโดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว
พฤศจิกายน 2547
ที่มา
http://www.thaiembassy.jp/TJcommunity-t/nittaiji.htm



ภาย ในบริเวณวัด มีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อยู่ด้านหน้าพระวิหาร ตามประวัติพระบรมสารีริกธาตุวัดนิไทยจิ เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น บันทึกไว้ตรงกับประวัติการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศ ว่า
ตั้งแต่ มีการพบเสาศิลาอันเป็นที่ระลึกถึงสถานที่ประสูติของพระสัมมาสัมพุทธ เจ้า ที่ลุมพินีวัน ทำให้นักวิชาการชาวยุโรปในอินเดียเกิดความตื่นตัวในการขุดค้นเนินดิน ที่เรียกว่า "โกต" ซึ่ง มีอยู่ทั่วไปตามทิศตะวันตกเฉียงเหนือแถบดินแดนของประเทศเนปาลเรื่อยไปจนถึง ทางตอนใต้ อันเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เพื่อสำรวจหาโบราณสถานและโบราณวัตถุต่างๆ ที่ถูกฝังไว้ตั้งแต่สมัยพุทธกาล
ในปลายปี ร.ศ. 115 มิสเตอร์ วิลเลียม แคลกซ์ตัน เปปเป ชาวอังกฤษ ซึ่ง มีถิ่นพำนักอยู่ในประเทศอินเดีย ได้ขุดค้นซากปรักหักพังของสถูปโบราณซึ่งจมอยู่ภายใต้เนินดินที่ตำบลปิปรา ห์วะ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองบัสติ อันเป็นที่ตั้งกรุงกบิลพัส ดุ์ สมัยพุทธกาล ซึ่งบริเวณสถานที่ดังกล่าวอยู่ในการดูแลของตน โดยในครั้งแรกได้ขุดหลุมกว้าง 10 ฟุตและลึก 8 ฟุต (กว้างราว 6 ศอก ลึก 5 ศอก) จนกระทั่งทะลุถึงถ้ำซึ่งก่อด้วยอิฐ จึงเกิดความมั่นใจว่าเนินดินนี้จะต้องเป็นสถูปในพระพุทธศาสนาอย่างแน่ นอน จึงหยุดการขุดสำรวจไว้ก่อน
ในเดือนตุลาคม ร.ศ. 115 มิสเตอร์ วินเซนต์ สมิท ได้ เข้ามาตรวจสอบสถูปดังกล่าวอีกครั้ง ได้แนะนำมิสเตอร์เปปเปว่าพระสถูปทางพระ พุทธศาสนาแห่งนี้น่าจะเป็นพระสถูปโบราณที่มีความสำคัญยิ่ง และหากมีสิ่งใดบรรจุไว้ในพระสถูปนี้ คงจะอยู่ในช่องตรงกลางลึกต่ำลงไปเสมอ พื้นดิน จากคำแนะนำดังกล่าวจึงเป็นแรงจูงใจให้มิสเตอร์เปปเป ทำการขุดสำรวจสถูปโบราณนั้นต่อไป
ในวันที่ 20 เดือนมกราคม ร.ศ. 116 เมื่อ มิสเตอร์ เปปเป ขุดรื้อสำรวจพระสถูปโบราณนั้นจากตรงกลางยอดลึกลงไป 10 ฟุต ได้พบท่อกลมก่อด้วยอิฐปากกว้างราว 2 คืบ จึงขุดตามท่อกลมนั้นลงไปได้พบหีบศิลาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ทำจากหินทราย 1 หีบ ภายในหีบศิลามีผอบศิลา 3 ผอบ กับหม้อแก้ว 1 หม้อ เต็มไปด้วยข้าวของ เงิน ทอง เพชร พลอย และเครื่องประดับต่างๆ มากมาย เช่น รูปเครื่องหมายพระรัตนตรัย ใบไม้ และนก นอกจากนั้น ยังมีแผ่นทองคำตีตราเป็นสัญลักษณ์ต่างๆ ด้วย แต่สิ่งที่ทำให้มิสเตอร์เปปเปเกิดความตื่นเต้นมากที่สุด คือ ภาย ในหีบศิลาหินทรายมีผอบบรรจุอัฐิธาตุ ประมาณสักฟายมือหนึ่ง (one handful) และที่ผอบใบที่บรรจุอัฐิธาตุนั้น มีข้อความจารึกด้วยอักษรพราหมีโบราณ อันเป็นภาษาที่ใช้มาก่อนพุทธกาล
จาก การตรวจสอบจารึก พบว่าเป็นอักษรโบราณมีอายุมากกว่า 300 ปี ก่อนคริสต์ศักราช คือ เป็นภาษาที่จารึกมาแล้วประมาณ 2,198 ปี ก่อนการขุดพบ ซึ่งเก่ากว่าภาษาที่ใช้จารึกเสาอโศก ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ที่เคยขุดพบมาแล้ว นักภาษาศาสตร์เชื่อว่า น่าจะเป็นภาษาที่ใช้ในสมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ หรือหลังจากนั้นก็ไม่น่าจะเกินพุทธศตวรรษที่ 2-4 ข้อความจารึกที่ผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแปลความได้ว่า

" ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้านี้ เป็นของตระกูลศากยราช ผู้มีเกียรติงาม กับพระภาตา พร้อมทั้งพระภคินี พระโอรส และพระชายา สร้างขึ้นอุทิศถวายไว้"
จาก จารึกและข้อสรุปของนักภาษาศาสตร์นั้น ทำให้มิสเตอร์เปปเปมั่นใจได้ว่า อัฐิธาตุที่บรรจุอยู่ภายในผอบนี้เป็นพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่ง เป็น 1 ใน 8 ส่วนที่เจ้าศากยะได้รับไปในคราวแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ หลังการถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน
มิสเตอร์เปปเปจึงมีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าพนักงานภาษีเมืองบัสติ เจ้าพนักงานได้ส่งสำเนาหนังสือของมิสเตอร์เปปเปต่อไปยังดอกเตอร์ วิลเลียม โฮย ข้า หลวงแขวงเมืองโครักขปุระ ดอกเตอร์โฮยได้ยื่นเรื่องต่อไปยังสมุหเลขานุการ รัฐบาลหัวเมืองอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือและเมืองโอธ แจ้งว่ามิสเตอร์เปปเป ได้ขุดสำรวจสถูปโบราณพบโบราณวัตถุและสิ่งของที่ล้ำค่า มีความยินดีจะยกให้พิพิธภัณฑ์อินเดีย และมอบให้รัฐบาลเป็นผู้จัดการตามเห็นสมควร โดยตนขอเก็บสิ่งของบางอย่างไว้เป็นที่ระลึก ข่าวคราวที่มิสเตอร์เปปเปขุดค้นพบพระบรมสารีริกธาตุได้รับการตีพิมพ์ทางหน้า หนังสือพิมพ์และได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง
ใน การนี้ดอกเตอร์โฮย ได้เขียนบทความเกี่ยวกับการขุดค้นพบพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธ เจ้า พร้อมทั้งคำอ่าน และคำแปลอักษรโบราณ ซึ่งจารึกที่ผอบลงในหนังสือพิมพ์ชื่อว่า ไพโอเนีย ฉบับวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 116 โดยระบุว่าเป็นการค้นพบครั้งประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งเลยที่เดียว และ ดอกเตอร์ ยี บือห์เลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณได้แปลคำจารึกขึ้นใหม่ ให้ชื่อว่า "คำจารึกศักยราช" ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รอยัลเอเชียติก โซไซอตี เดือนเมษายน ร.ศ. 117
ต่อมา นายมารควิส เคอร์ชัน ผู้ ดำรงตำแหน่งอุปราชครองประเทศอินเดีย ซึ่งเคยเข้ามารับราชการอยู่ในกรุงเทพฯและมีความคุ้นเคยกับรัชกาลที่ 5 มาก่อน เห็นว่า พระบรมสารีริกธาตุนั้นเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาวพุทธ จึงควรมอบคืนให้เป็น สมบัติของชาวพุทธ และนายมารควิส เคอร์ชันเห็นว่า พระมหากษัตริย์ที่ทรงนับถือพระพุทธศาสนาสมัยนั้น ก็มีแต่พระเจ้ากรุงสยามเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น รัฐบาล อินเดียจึงมีความประสงค์ที่จะทูลเกล้าฯ ถวายพระบรมสารีริกธาตุแด่รัชกาลที่ 5 พร้อมให้ฝ่ายไทยส่งผู้แทนเป็นคณะราชทูตไปรับ และขอให้รัชกาลที่ 5 แบ่งพระบรมสารีริกธาตุแก่ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาต่างๆ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุขุมนัยวินิต( ปั้น สุขุม) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช เป็นผู้ออกไปรับพระบรมสารีริกธาตุ ณ ประเทศอินเดีย โดยออกเดินทางออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 มกราคม ร.ศ. 117 (พ.ศ. 2441) ถึง เมืองสิงคโปร์วันที่ 20 มกราคม พักอยู่ที่สิงคโปร์ 3 วัน เพื่อคอยเรือเมล์ที่จะออกดินทางไปกัลกตา จากนั้นเดินทางต่อไปจนถึงอินเดียในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 117 รัฐบาลอินเดียได้ให้การต้อนรับคณะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากสยาม ประเทศเป็นอย่างดี และได้ทำพิธีมอบพระบรมสารีริกธาตุในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 117 พระยาสุขุมนัยวินิต( ปั้น สุขุม) พร้อมด้วยหลวงพินิจอักษร อัญเชิญพระเจดีย์กาไหล่ทองคำ ซึ่งพระราชทานจากกรุงเทพฯ เข้าสู่มณฑลพิธี ดอกเตอร์โฮย ข้า หลวงแขวงเมืองโครักขปุระ ตัวแทนฝ่ายอินเดียอ่านคำมอบพระบรมสารีริกธาตุ ท่ามกลางข้าราชการ ทั้งพวกผู้ดีชายหญิงซึ่งมาประชุมกันเป็นจำนวนมาก โดยมีทหารยืนเป็นกองเกียรติยศ 24 คน ต่อจากนั้น พระยาสุขุมนัยวินิต ตัวแทนจากสยามกล่าวขอบคุณ
ครั้นถึงเวลาบ่าย 5 โมงวันเดียวกัน คณะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากสยามประเทศ ได้ออกเดินทางกลับ ถึงเมืองตรังในวันที่ 2 มีนาคม ร.ศ. 117 ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นบุษบกแห่ผ่านเมือง ตรัง พัทลุง สงขลา แต่ ละเมืองที่ผ่านมา มีประชาชนเข้าร่วมขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุและสักการบูชา ด้วยดอกไม้ ธูปเทียน แก้วแหวน เงินทองมากมาย แสดงให้เห็นถึงความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชนในแต่ละเมืองได้เป็นอย่าง ดี จากนั้น ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุลงเรือหลวงต่อไปยังเมืองสมุทรปราการ

ครั้น ถึงเมืองสมุทรปราการในวันที่ 15 มีนาคม ร.ศ. 117 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้นำพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานในพระวิหาร เกาะพระสมุทรเจดีย์ ทำการฉลองเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน แล้วจัดขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุเดินทางมากรุงเทพมหานคร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่เจดีย์บรมบรรพต ภูเขาทอง วัดสระเกศ ในวันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2442 (ร.ศ. 118) และได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุแก่ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาต่างๆ เช่น พม่า ลาว ลังกา ญี่ปุ่น ไซบีเรีย เป็นต้น ตามความประสงค์ของรัฐบาลอินเดีย
ฝ่าย รัฐบาลญี่ปุ่นนั้น ได้คัดเลือกตัวแทนคณะสงฆ์ญี่ปุ่นจากพุทธนิกายต่างๆ ไปยังสยามประเทศ เพื่ออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมายังประเทศญี่ปุ่น โดยได้ ประกอบพิธีพระราชทานที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2443 คณะสมณทูตญี่ปุ่นได้กราบบังคมทูลว่า มี ความประสงค์จะสร้างเจดีย์และวัดขึ้นใหม่เป็นการเฉพาะ เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และเพื่อเป็นสัญลักษณ์การรวมนิกาย ต่างๆ ของคณะสงฆ์ญี่ปุ่น
พระองค์ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อสร้างพระเจดีย์และวัดใหม่ตามความประสงค์ของคณะสงฆ์ญี่ปุ่นนั้นด้วย ใน การนี้ พระองค์ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระพุทธรูปโบราณไปด้วย พระพุทธรูปองค์นี้งามวิจิตรพิสดาร ชาวญี่ปุ่นถือว่าเป็นศิลปะคู่บ้านคู่เมืองญี่ปุ่น เพราะเป็นหลักฐานทาง ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น สมัยรัชกาลที่ 5
เมื่อ คณะสมณทูตกลับมาจากประเทศสยาม ได้ปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างรัฐบาล คณะสงฆ์ญี่ปุ่นจากนิกายต่างๆ ตลอดจนพุทธศาสนิกชน แล้วตกลงเลือกสร้างวัด และพระเจดีย์ที่เมืองนาโงย่า เพราะนอกจากชาวเมืองเรียกร้องต้องการมากที่ สุดแล้ว เมืองนาโกย่า ยังเป็นเมืองมรดกทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นที่ตั้งปราสาทนาโกย่าอันเก่าแก่ของโชกุน จึงทำให้เกิดวัดนิ ไทยจิ (วัดไทย -ญี่ปุ่น) ขึ้นที่เมืองนาโงย่า เมื่อ พ.ศ. 2447
สำหรับ สถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุนั้น ศาสตราจารย์ซูดะ อีโต แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียวเป็นผู้ออกแบบ และสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2451 พระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุองค์นี้ ถือกันว่ามีความงดงามเป็นพุทธสถาปัตยกรรม ซึ่งออกแบบโดยศิลปินผู้มีชื่อเสียง ชาวญี่ปุ่น
พระ วิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งรับพระราชทานมาจากประเทศสยามนั้น ได้ บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2508 เมื่อทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลย เดช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระพุทธรูป ภปร. เพิ่มมาอีกองค์หนึ่ง พร้อมทั้งทรงถวายพระนาม พระพุทธรูป สมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อช่างจารึกลงบนไม้ด้วยลายจำหลักทองว่า "พระพุทธศากยมุนี" โดยมีพระปรมาภิไธยย่อของพระองค์และของพระบรมอัยกาธิราชประกอบอยู่ด้วย
วัด นิไทยจิจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศ โดยที่ประชาชนชาวญี่ปุ่นถือกันว่า วัดนี้เป็นวัดพิเศษ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่แท้จริงแห่งองค์พระศากยมุนีพุทธเจ้า เป็นที่รวมนิกายต่างๆ และเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักความสามัคคีแห่งคณะสงฆ์ญี่ปุ่น



















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น