วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พระปัญญาวัฑโฒ (๑๙ ตุลาคม ๒๔๖๘ - ๑๘ สิงหาคม ๒๕๔๗)

พระอาจารย์ปัญญา ปัญญาวัฑโฒ
Pannavaddho

(Peter J. Morgan)

1926 – 2004
วัดป่าบ้านตาด
ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี

ท่านเป็นชาวอังกฤษ  
นามเดิม ชื่อ  ปีเตอร์ จอห์น นามสกุล มอร์แกน (PETER J. MORGAN)
บิดา จอห์น วอตคิน นามสกุล มอร์แกน ( J. W. MORGAN )
มารดา ไวโอเลต แมรี่ นามสกุล มอร์แกน ( V. M. MORGAN )
ชาติกาลวันจันทร์ที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๘ ขึ้น ๓ ค่ำเดือน ๑๒ ปี ฉลูา
สถานที่เกิด ณ ประเทศอินเดีย ในเหมืองทองโคลาร์ รัฐไมซอร์  (ปัจจุบันเรียกว่า การ์นาตากะ) ภาคใต้ของอินเดีย
ที่อยู่ ณ  ประเทศอังกฤษ ที่ตำบล บริน อำเภอ แลนเนลี กรุงลอนดอน
พี่น้อง ท่านมีพี่น้องร่วมท้องมารดาเดียวกันทั้งหมด ๓ คน ชาย ๒ คน หญิง  ๑ คน ท่านเป็นบุตรคนโต
วิทยฐานะ จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จากฟาราเดย์เฮาส์  วิทยาลัยเทคนิค ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
อาชีพ วิศวกรไฟฟ้า

ท่านใช้ชีวิตเป็นฆราวาสอยู่ ๓๐ ปี โดยไม่ได้แต่งงาน

บรรพชา เมื่ออายุได้ ๓๐ ปี ท่านได้ตัดสินใจบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่  ๓๑ ตุลาคม ๒๔๙๘ ณ พุทธวิหาร กรุงลอนดอน (ซึ่งรัฐบาลศรีลังกาสร้างไว้)  โดยมีพระกปิลวัฑโฒภิกขุ (ซึ่งเป็นพระชาวศรีลังกา แต่บวชในประเทศไทย)  เป็นพระอุปัชฌาย์

อุปสมบท อายุ ๓๑ ปี พระอุปัชฌายะได้พาท่านเข้ามาในประเทศไทย  โดยได้อุปสมบทในคณะมหานิกาย เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๔๙๙ โดยมี  พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด จนฺทสโร) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ  กรุงเทพฯเป็นพระอุปัชฌาย์  ท่านได้ศึกษาวิชชาธรรมกายกับหลวงพ่อสดอยู่ระยะหนึ่งเดือนก รกฎาคมปีนั้นเอง  ได้เดินทางกลับประเทศอังกฤษ พักจำพรรษาอยู่ที่พุทธวิหาร ในกรุงลอนดอน  เป็นเวลากว่า ๕ ปี พ.ศ.๒๕๐๔ ได้กลับมาประเทศไทยอีกครั้ง  โดยได้พำนักอยู่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ กรุงเทพมหานคร

อยู่วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๖  ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาข้อวัตรปฏิบัติในสำนักวัดป่าบ้านตาดครั้งแรก  ในความดูแลของ หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ต.บ้านตาด อ.เมือง  จ.อุดรธานี

อุปสมบทครั้งที่ ๒ อายุ ๓๙ ปี อุปสมบทซ้ำในฝ่ายธรรมยุตินิกาย  (ทำพิธีบวชซ้ำอีกโดยมิได้ลาสิกขา บทไปเป็นฆราวาสก่อน) เมื่อวันที่ ๒๒  เมษายน ๒๕๐๘ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ต.บางลำภู อ.พระนคร กรุงเทพมหานคร  ได้รับนามฉายา ภาษามคธว่า “ปญฺญาวฑฺโฒ” แปลว่า ผู้เจริญด้วยปัญญา  ครูบาอาจารย์และลูกศิษย์ลูกหาทั่วไปจึงได้เรียกชื่อท่านสั้นๆ ว่า  “ปัญญาๆ” ตั้งแต่นั้นมา (บวชพระพร้อมกันกับท่านพระ อาจารย์เชอร์รี่  อภิเจโต วัดป่าบ้านตาด) พระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน  (หรือพระสาสนโสภณ ราชทินนามในขณะนั้น) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจาจารย์ พระเทพญาณกวี พระอนุสาวนาจารย์ ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน

มรณภาพ เมื่อวันพุธที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ เวลา ๘.๓๐ น. ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๙ ปีวอก ณ วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี ด้วยโรคมะเร็งที่ลำไส้ สิริรวมอายุได้ ๗๘ ปี ๑๐ เดือนพอดี นับเป็นวันได้ ๒๘,๗๙๑ วัน อุปสมบทได้ ๓๙ พรรษา รวมเวลาที่ได้อยู่ ณ วัดป่าบ้านตาด เป็นเวลา ๔๑ ปี ( นับแต่ปี ๒๕๐๖)

ผลงานด้านสิ่งก่อสร้างภายในวัด

ศาลาใหญ่ด้านนอก
ศาลาด้านใน (ยกศาลาและปูพื้น)
ทางจงกรมหลวงตา
ตำหนักที่ประทับเจ้าฟ้าหญิง
เรือนที่พักข้าราชบริพาร
กำแพงวัด
ถังซีเมนต์เก็บน้ำใช้ภายในวัด
กุฏิที่พักผู้มาปฏิบัติธรรม
เมรุ
และอื่นๆ มากมาย

ผลงานด้านแปลหนังสือธรรมะ

1. THE DHAMMA TEACHING OF ACARIYA MAHA BOOWA IN LONDON
แปลจาก ท่านอาจารย์พระมหาบัวฯ ในกรุงลอนดอน หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นจากที่หลวงตาไปเมตตาโปรดชาวอังกฤษ เมื่อปีพ.ศ.  2517 และ หลวงปู่ได้ติดตามไปเป็นล่าม  เมื่อหลวงตาเทศน์เสร็จแล้วหลวงปู่จะเป็นผู้แปล

2. WISDOM DEVELOPS SAMADHI
แปลจาก กัณฑ์เทศน์ของหลวงตา

3. FOREST DHAMMA
แปลจาก กัณฑ์เทศน์ของหลวงตา

4. PATIPADA OR THE MODE OF PRACTICE OF VENERABLE ACHARN MUN
แปลจาก ปฏิปทาพระธุดงคกรรมฐาน สายพระอาจารย์มั่น

5. KHANDHAVIMUTTI SAMANGIDHAMMA
แปลจาก ขันธะวิมุติ สะมังคีธรรมะ
บทประพันธ์โดยพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ

6. VENERABLE ACARIYA KOW –A MEDITATION MASTER’S BIOGRAPHY
แปลจาก หนังสือประวัติหลวงปู่ขาว อนาลโย
โดยท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
(หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มสุดท้ายที่หลวงปู่แปล ได้สั่งกำชับให้พระตรวจให้เสร็จก่อนที่ท่านจะเข้ารักษาตัวที่ โรงพยาบาล ดังนั้นเล่มนี้จึงยังไม่มีการตีพิมพ์)


--------------------------------------------------------------------------------------------------




พระปัญญาวัฑโฒ (๑๙ ตุลาคม ๒๔๖๘ - ๑๘ สิงหาคม ๒๕๔๗)
เขียนโดย ส. ศิวรักษ์   
ภิกขุปัญญาวัฑโฒ เป็นพระภิกษุชาวอังกฤษ ที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ณ วัดปากน้ำภาษีเจริญ โดยมีพระมงคลเทพมุนี (สด) เป็นพระอุปัชฌาย์ แต่ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ นับว่าท่านเป็นพระมหาเถระที่มีพรรษายุกาลยิ่งกว่าพระฝรั่งรูปใดในประเทศนี้ หรือที่ประเทศอื่นๆ ในโลกเอาเลยก็ว่าได้ เมื่อท่านมรณภาพลงเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๔๗ ที่วัดป่าบ้านตาด อุดรธานีนั้น ท่านบวชมาได้ ๔๖ พรรษา ย่าง ๔๗ พรรษาเอาเลยด้วยซ้ำ

ท่านปัญญาวัฑโฒ เดิมชื่อ Morgan ปู่ของท่านเคยเป็นเจ้าอธิการมหาวิหารของนิกายอังกฤษแห่ง คริสตศาสนา (Dean of St. David’s Catheral) ในแคว้นเวลส์ คือท่านเองก็มีเชื้อสายเป็นชาวเวลส์ ดังที่ใน สหราชอาณาจักรนั้น คนอังกฤษหรือ British นั้น เป็น English ก็ได้ Welsh ก็ได้ หรือ Scots ก็ได้ โดยไม่นับถึง Irish ในไอร์แลนด์เหนือ


ท่านจบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ แต่เห็นว่าการครองเรือนและอาชีพการงานต่างๆ ออกจะไร้สาระ จึงแสวงหาทางออกจากวิถีชีวิตอย่างโลกๆ ที่เป็นไปเพียงเพื่อมีคู่ครอง มีลูกหลาน แล้วก็มีทรัพย์ศฤงคารบริวาร ทั้งหมดนี้ท่านเห็นว่าเป็นเรื่องเหลวไหล ไม่จิรังยั่งยืน

เผอิญท่านอ่านหนังสือชื่อ Buddhism by Christmas Hamphreys นายกพุทธสมาคมของอังกฤษในขณะนั้น ท่านทึ่งในเนื้อหาของหนังสือเล่มดังกล่าว จึงหาทางโยงใยไปพบพุทธศาสนิกชนชาวอังกฤษ ซึ่งในเวลานั้นยังมีเป็นจำนวนน้อย แล้วตั้งกลุ่มปฏิบัติธรรมขึ้นที่เมืองแมนเชสเตอร์ หาเวลาภาวนาให้จิตใจสงบ และรักษาศีล เพื่อไม่เอาเปรียบตนเองและผู้อื่น หวังที่จะได้แสงสว่างทางปัญญา

ณ ช่วงก่อนกึ่งพุทธกาลนั้น มีคนอังกฤษคนหนึ่ง ซึ่งออกบวชเป็นพระภิกษุมาแล้ว ได้รับสมณฉายาว่า กปิลวัฑโฒ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเป็นผู้นำสูง แม้จะไม่มีการศึกษามากนักก็ตาม ทั้งท่านยังมีโวหารกล้าทางด้านการแสดงธรรม จนนายมอร์แกนไปสมัครเป็นศิษย์ และใคร่ติดตามพระกปิลวัฑโฒมาบวชที่เมืองไทยในปี ๒๕๐๐

พระกบิลวัฑโฒต้องการตั้งคณะสงฆ์ขึ้นในอังกฤษ ชักชวนชาวอังกฤษมาบวชกับท่านที่วัดปากน้ำถึง ๔ รูป รวมท่านด้วยเป็น ๕ หากท่านทั้งห้านี้ทรงพรหมจรรย์ต่อไป จนท่านกปิลวัฑโฒบวชได้ครบ ๑๐ พรรษา ท่านทั้งห้านี้ย่อมให้บรรพชาอุปสมบทในอังกฤษได้ตามพระวินัย แม้บางท่านที่มาบวช ณ วัดปากน้ำจะเป็นชาวอินเดียตะวันออก (East Indies) ที่มีผิวดำก็ตามที หากทุกท่านถือสัญชาติอังกฤษ

ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เรามีพระกปิลวัฑโฒเป็นตัวตั้งตัวตีที่จะก่อให้เกิดคณะสงฆ์ขึ้นในอังกฤษ ดังที่ในปี ๒๔๗๕ เราก็มีพระโลกนาถ ชาวอเมริกันเชื้อสายอิตาเลียน ที่เข้ามาเมืองไทย ชักชวนพระหนุ่มเณรน้อยให้จาริกด้วยเท้าเปล่าไปยังชมภูทวีป เพื่อบูชามหาสังเวชนียสถานทั้งหมด แล้วก็จะยาตราไปยังกรุงโรม เพื่อโน้มน้าวพระสันตปาปา ประมุขแห่งนิกายโรมันคาทอลิก ให้มาสมาทานพุทธศาสนา และแล้วพระฝรั่งทั้งสองรูปนี้ก็ล้มเหลวทั้งคู่ อย่างน้อยพระโลกนาถได้ถอยกองทัพธรรมมาตั้งมั่นอยู่รูปเดียวในพม่า จนเพิ่งมรณภาพไปเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง หากท่านถือมังสวิรัตเคร่งครัด และมีอาจารย์กรุณา กุสลาศัยเป็นศิษย์ก้นกุฏิท่าน แต่ปี ๒๔๗๕ จนบัดนี้

สำหรับพระกปิลวัฑโฒที่นำคนทั้ง ๔ มาบวช ณ วัดปากน้ำภาษีเจริญในปี ๒๕๐๐ นั้น สึกหาลาเพศกันไปหมด รวมทั้งท่านกปิลวัฑโฒด้วย เหลือแต่ท่านปัญญาวัฑโฒรูปเดียว

เมื่อบวชแล้วไม่นาน ท่านปัญญาวัฑโฒย้ายจากเมืองแมนเชสเตอร์มาจำพรรษในกรุงลอนดอน โดยพุทธมามกชนชาวอังกฤษในราชธานีแห่งนั้นตั้ง Sangha Trust ขึ้น เป็นดังมูลนิธิที่อุดหนุนให้เกิดคณะสงฆ์ในสหราชอาณาจักร แต่ท่านอยู่ของท่านรูปเดียว เจริญสมาธิภาวนาเป็นส่วนใหญ่ ไม่รับกิจนิมนต์ใดๆ โดยที่เวลานั้นลอนดอนมีพุทธสมาคมของฆราวาสชาวอังกฤษ ๑ และมีพุทธวิหารของชาวสิงหฬที่นิมนต์พระมาจากลังกาทวีปไปอยู่อีก ๑

ในช่วงหลัง พ.ศ. ๒๕๐๐ ข้าพเจ้าเข้าไปทำงานในลอนดอนและเรียนที่เนติบัณฑิตยสภาของอังกฤษ จึงมีโอกาสไปพบท่านปัญญาวัฑโฒ ซึ่งปรารถนาจะเรียนภาษาไทย คือท่านประสงค์จะกลับไปเมืองไทย เพื่อแสวงหาครูบาอาจารย์ที่เป็นพระป่า ซึ่งพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงอาสาไปสอนภาษาไทยถวายท่านแทบทุกสัปดาห์

ในตอนนั้น มีนักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษคนหนึ่งต้องการไปบวชเพื่อปฏิบัติธรรมกับท่านพระอาจารย์ขาว ผู้เคยได้รับอาราธนาให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ ซึ่งเพิ่งแรกสร้าง หากท่านไม่รับตำแหน่งดังกล่าว จึงตกไปเป็นของท่านปัญญานันทะ

เมื่อชาวอังกฤษคนนี้ มาบวชที่เมืองไทย เขาได้สมเด็จพระสังฆราช (อยู่) วัดสระเกศ เป็นพระอุปัชฌาย์ แต่เมื่อยังทรงเป็นเพียงสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ได้รับฉายาว่า ชุตินธโร เมื่อสึกหาลาเพศแล้ว 

ข้าพเจ้าก็ได้คุ้นเคยกับเขา ซึ่งคงจะแนะนำให้ท่านปัญญาวัฑโฒไปพัก ณ วัดชลประทานรังสฤษฏ์ เมื่อท่านหวนกลับมาเมืองไทยในปลายปี พ.ศ. ๒๕๐๔

ข้าพเจ้าเองก็กลับเมืองไทยในระยะใกล้ๆ กับท่าน และไปเยี่ยมท่านที่วัดชลประทานฯ อยู่เนืองๆ ตัวท่านเองแสวงหาครูอาจารย์อยู่นาน ข้าพเจ้าแนะนำท่านอาจารย์พุทธทาสที่สวนโมกข์ แต่ท่านไม่ต้องการ ท่านหาว่าสวนโมกข์เน้นทางทฤษฎีมากเกินไป ท่านต้องการปฏิบัติธรรมล้วนๆ 

อยากได้พระป่าเป็นครูบาอาจารย์ จนท่านได้ไปพบพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน ที่จันทบุรีนั้นแล ที่ท่านตัดสินใจว่านี่แลคือพระอาจารย์ในอุดมคติของท่าน แม้ภาษาไทยของท่านจะไม่ดีพอถึงขนาดเข้าใจคำสั่งสอนภาษาไทยได้อย่างลึกซึ้งก็ตามที

พระอาจารย์มหาบัวดำริจะย้ายไปตั้งหลัก ณ วัดป่าบ้านตาด อุดรธานี แทนจาริกไปตามที่ต่างๆ อย่างแต่ก่อน เพราะโยมมารดาแก่ชรา ท่านต้องการอนุเคราะห์บุพการิณี ท่านปัญญาวัฑโฒจึงตามไปยังวัดนั้น ทั้งๆ ที่เวลานั้นชาวกรุงเห็นกันว่าอุดรธานีอยู่สุดหล้าฟ้าเขียว ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปส่งท่านที่วัดนั้นด้วยในปี พ.ศ. ๒๕๐๕

ท่านปัญญาวัฑโฒอยู่ที่วัดนั้นตลอดมา แม้จะเดินทางไปยังที่อื่นๆ บ้าง ก็เป็นการชั่วคราว ทางอังกฤษอาราธนาให้ท่านกลับไปตั้งคณะสงฆ์ขึ้น แต่ท่านก็ปฏิเสธ แม้ท่านจะเคยพาท่านอาจารย์มหาบัวไปอังกฤษด้วยกันครั้งหนึ่งด้วยแล้วก็ตาม ทางอังกฤษจึงเปลี่ยนใจ ขอให้ท่านอาจารย์ชา สุภัทโท แห่งอุบลราชธานี ส่งพระอาจารย์สุเมโธไปตั้งสมณวงศ์ที่ประเทศนั้นแทน จนเป็นปึกแผ่นอยู่ทั้งที่อังกฤษและประเทศอื่นๆ พระอาจารย์สุเมโธเองก็ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ จนได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชสุเมธาจารย์ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ณ วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๗ นี้

ท่านปัญญาวัฑโฒไม่ยอมรับสมณศักดิ์ ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย เน้นที่สมาธิภาวนาอย่างพระป่าแท้ๆ แม้ท่านจะอยู่วัดธรรมยุตโดยได้บวชมาในคณะมหานิกาย ต่อภายหลังท่านจึงบวชแปลงเป็นธรรมยุติ ที่วัดบวรนิเวศ โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวัฑโน) เป็นพระอุปัชฌาย์

เจ้าคุณพระญาณวโรดม (สนธ์ กิจฺจกาโร) แห่งวัดบวรนิเวศ พูดชมอยู่เสมอว่า ท่านปัญญาวัฑโฒเป็นพระที่แท้ คือท่านมุ่งเพียงมรรคผลนิพพาน อย่างไม่สนใจในเรื่องโลกธรรมเอาเลย

ท่านไม่เขียนและแทบไม่เทศน์ หากแปลพระธรรมเทศนาของท่านพระอาจารย์ของท่านเป็นภาษาอังกฤษ ดังท่านเคยมอบให้ข้าพเจ้านำไปตีพิมพ์เป็นเล่มชื่อ Forest Dhamma

ที่วัดป่าบ้านตาดนั้น ท่านเป็นพระผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านและเพื่อนสหธรรมิกทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศอย่างแท้จริง

แม้ท่านจะเป็นวัณโรคที่เท้ามาแต่หนุ่ม แต่ก็ออกบิณฑบาตได้ หากต้องไม่ไกลนัก โดยท่านไม่สะสมวัสดุสิ่งของใดๆ ชีวิตของท่านเป็นไปอย่างเรียบง่าย สมกับความเป็นสมณะ ท่านมุ่งเจริญจิตสิกขา และรักษาศีลสิกขาอย่างเคร่งครัด เพื่อเข้าถึงปัญญาสิกขา ด้วยภาวนามัยวิธี อย่างที่ควรแก่การเคารพสักการะยิ่งนัก

ทัศนคติทางโลกของท่านตีกรอบอยู่เพียงแค่วัดป่า ท่านไม่รู้อะไรยิ่งไปกว่านั้น และท่านเคารพครูบาอาจารย์อย่างปราศจากการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ เอาเลย ข้าพเจ้าเคยถามท่านเมื่อปีกลายว่า 

ท่านเห็นอย่างไร ที่วัดป่าบ้านตาด บัดนี้มีกิจกรรมมากมาย ไม่สงบเงียบดังแต่ก่อน ทั้งท่านพระอาจารย์มหาบัวก็กลายเป็นพระธรรมวิสุทธาจารย์ไปแล้ว โดยมีการเรี่ยไรกันจากทั่วประเทศ เอาเงินคนจนส่วนใหญ่ไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ท่านบอกว่า ไม่มีความเห็น และการที่พระอาจารย์มหาบัวมีกิจกรรมมากนั้นดี ช่วยให้ท่านอายุยืน หาไม่ท่านจะหงอยเหงานัก

การที่พระมีทัศนคติเช่นนี้ ก็นับว่าน่ารับฟัง แม้เราจะไม่เห็นด้วยกับท่านก็ตาม อย่างน้อยท่านปัญญาวัฑโฒก็เป็นพระดีและอยู่ที่ประเทศของเรามาเป็นเวลาถึงสี่ทศวรรษ นับว่าเป็นสิริมงคลกับบ้านเมือง โดยถือได้ว่าท่านเป็นศรีของพระศาสนาอย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น