วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2554

วัดนิตไทยจิ (วัดไทย-ญี่ปุ่น) nittai-ji temple

ประวัติของวัดนิตไทยจิ (วัดไทย-ญี่ปุ่น)
เมืองนาโงยา ประเทศญี่ปุ่น

            เมื่อปีพ.ศ. 2441 นักโบราณคดีชาวอังกฤษได้ขุดค้นโบราณสถานทางเหนือของอินเดียใกล้กับเนปาลแล้วค้นพบอัฐิธาตุของมนุษย์ บรรจุไว้ในโถซึ่งมีจารึกอักษรโบราณในสมัยหลังพุทธกาลราว 3 ศตวรรษ

            ครั้นถอดความได้สำเร็จ ปรากฏว่าข้อความนั้นยืนยันว่า อัฐิธาตุนั้นคือ พระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จ พระบรมศาสดา ศากยมุนีพุทธเจ้า การค้นพบครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของเอเชีย เพราะเป็นการยืนยันว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลที่มีอยู่จริง ยังผลให้ประวัติศาสตร์ที่เคยเชื่อกันในหลายวงการว่า พระพุทธเจ้ามิได้เป็นมนุษย์ในโลกนี้ เป็นอันสิ้นสุดไป

            โดยที่รัฐบาลอังกฤษที่ปกครองอินเดียอยู่ในเวลานั้น เห็นว่าพระบรมสารีริกธาตุที่แท้เช่นนี้ เป็นของมีค่าอย่างหาที่สุดมิได้สำหรับพุทธศาสนิกชน และเห็นว่าพระเจ้ากรุงสยามเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกพระองค์เดียวที่เหลืออยู่ในโลกเวลานั้น เพราะประเทศสยามเป็นพุทธจักรที่เป็น เอกราชอยู่หนึ่งเดียวเท่านั้น รัฐบาลแห่งอินเดียจึงถวายพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าวแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงรับมาประดิษฐานไว้บนพระเจดีย์ที่ยอดของพระบรมบรรพต(ภูเขาทอง) วัดสระเกศ ในกรุงเทพฯ

            ต่อมาได้มีสมณทูตจากประเทศต่างๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนา รวมทั้งรัฐบาลญี่ปุ่น ขอส่วนแบ่งแห่ง พระบรมสารีริกธาตุดังกล่าว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปันพระบรมสารีริกธาตุไปยังประเทศนั้นๆ สำหรับญี่ปุ่นได้พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุแก่พุทธศาสนิกชนชาวญี่ปุ่นโดยรวม โดยไม่จำเพาะเจาะจงให้กับนิกายใดเป็นการเฉพาะ

            ฝ่ายพุทธศาสนิกชนชาวญี่ปุ่นได้ส่งตัวแทนจากพุทธนิกายไปยังกรุงเทพฯ เพื่ออัญเชิญ พระบรมสารีริกธาตุมายังประเทศของตน และได้รับพระราชทานเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2443 โดยคณะสมณทูตได้กราบบังคมทูลว่า จะสร้างพระเจดีย์ขึ้นใหม่เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการรวมนิกายต่างๆ และเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระพุทธรูปโบราณ และพระราชทรัพย์เพื่อสร้างวัดใหม่นั้นด้วย พระพุทธรูปองค์นี้งามวิจิตรพิศดาร และมีอายุเก่าแก่ ว่าเป็นศิลปะคู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่งของประเทศสยามขณะนั้น

            เมื่อคณะสมณทูตญี่ปุ่นกลับมาจากประเทศสยาม ได้ปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างต่างนิกาย แล้วตกลงเลือกสร้างวัดและพระเจดีย์ที่เมืองนาโงยา เพราะชาวเมืองเรียกร้องต้องการมากที่สุด จึงได้มีการก่อสร้างวัดนิตไทยจิ (วัดไทย-ญี่ปุ่น) ขึ้นที่เลขที่ 1-1 โฮโอโจ เขตจิคุซา เมืองนาโงยา จังหวัดไอจิ ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 15พฤศจิกายน พ.ศ. 2447

            สถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุนั้น ศาสตราจารย์จูตะ อิโต แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียวเป็นผู้ออกแบบและสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2461 พระสถูปศิลาองค์นี้ถือเป็นผลงานชิ้นเอกของศาสตราจารย์อิโต และได้รับการยอมรับในประเทศญี่ปุ่นในเวลาต่อมาว่างดงามทางพุทธสถาปัตยกรรมอย่างยิ่ง

            พระวิหารซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งรับพระราชทานมาจากประเทศสยามนั้น ได้รับการก่อสร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2527 เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จึงทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระพุทธรูป ภปร. เพิ่มมาอีกหนึ่งองค์ พร้อมทั้งทรงเขียนลายพระราชหัตถ์เพื่อช่างจารึกลงบนป้ายไม้ด้วยลายจำหลักทองชื่อ “พระพุทธศากยมุนี” โดยมีพระปรมาภิไธยย่อของพระองค์เอง และของพระบรมอัยกาธิราชประกอบอยู่ 2 ด้านของแผ่นป้าย ป้ายดังกล่าวประดิษฐานอยู่เหนือประตูทางเข้าพระวิหารในขณะนี้

            วัดนิตไทยจิ หรือวัดไทยญี่ปุ่น เป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศทั้งสอง และเป็นวัดที่มีเอกลักษณ์เป็นพิเศษทางพุทธศาสนาของญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นวัดเดียวที่รวมนิกายต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยไม่ถือว่าสังกัดนิกายใดนิกายหนึ่ง เจ้าอาวาสของวัด ใช้ระบบสับเปลี่ยนให้ หัวหน้าสงฆ์จาก 19 นิกายดำรงตำแหน่งวาระ ละ 3 ปี

            โดยที่วัดนิตไทยจินี้ก่อตั้งขึ้นจากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธรูปให้กับพุทธศาสนิกชนชาวญี่ปุ่น จึงถือได้ว่า มีความใกล้ชิดกับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชวงศ์ของไทยเป็นพิเศษ และราชวงศ์ของไทยหลาย พระองค์ได้เสด็จฯยังวัดแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ได้เสด็จฯ ยังวัดนิตไทยจิ ในระหว่างการเสด็จฯ เยือนประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2474 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ ที่วัดนิตไทยจิ เมื่อปี พ.ศ. 2506 และเมื่อปี พ.ศ. 2530 ในโอกาสเฉลิมฉลอง 100 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น วัดนิตไทยจิได้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานที่บริเวณหน้าพระวิหาร ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จฯ มาทรงเปิดแพรคลุมพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2530

            นอกจากนี้ ในวันปิยะมหาราช หรือตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เจ้าหน้าที่หน่วยงานไทย และชุมชนไทยในประเทศญี่ปุ่น จะร่วมกันถวายสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ณ วัดแห่งนี้ด้วย

            วัดนิตไทยจิได้ฉลองครบรอบ 100 ปี ของการได้รับพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธรูปจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2543 และได้ฉลองครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งวัดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547


เรียบเรียงโดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว
พฤศจิกายน 2547
ที่มา
http://www.thaiembassy.jp/TJcommunity-t/nittaiji.htm



ภาย ในบริเวณวัด มีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อยู่ด้านหน้าพระวิหาร ตามประวัติพระบรมสารีริกธาตุวัดนิไทยจิ เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น บันทึกไว้ตรงกับประวัติการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศ ว่า
ตั้งแต่ มีการพบเสาศิลาอันเป็นที่ระลึกถึงสถานที่ประสูติของพระสัมมาสัมพุทธ เจ้า ที่ลุมพินีวัน ทำให้นักวิชาการชาวยุโรปในอินเดียเกิดความตื่นตัวในการขุดค้นเนินดิน ที่เรียกว่า "โกต" ซึ่ง มีอยู่ทั่วไปตามทิศตะวันตกเฉียงเหนือแถบดินแดนของประเทศเนปาลเรื่อยไปจนถึง ทางตอนใต้ อันเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เพื่อสำรวจหาโบราณสถานและโบราณวัตถุต่างๆ ที่ถูกฝังไว้ตั้งแต่สมัยพุทธกาล
ในปลายปี ร.ศ. 115 มิสเตอร์ วิลเลียม แคลกซ์ตัน เปปเป ชาวอังกฤษ ซึ่ง มีถิ่นพำนักอยู่ในประเทศอินเดีย ได้ขุดค้นซากปรักหักพังของสถูปโบราณซึ่งจมอยู่ภายใต้เนินดินที่ตำบลปิปรา ห์วะ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองบัสติ อันเป็นที่ตั้งกรุงกบิลพัส ดุ์ สมัยพุทธกาล ซึ่งบริเวณสถานที่ดังกล่าวอยู่ในการดูแลของตน โดยในครั้งแรกได้ขุดหลุมกว้าง 10 ฟุตและลึก 8 ฟุต (กว้างราว 6 ศอก ลึก 5 ศอก) จนกระทั่งทะลุถึงถ้ำซึ่งก่อด้วยอิฐ จึงเกิดความมั่นใจว่าเนินดินนี้จะต้องเป็นสถูปในพระพุทธศาสนาอย่างแน่ นอน จึงหยุดการขุดสำรวจไว้ก่อน
ในเดือนตุลาคม ร.ศ. 115 มิสเตอร์ วินเซนต์ สมิท ได้ เข้ามาตรวจสอบสถูปดังกล่าวอีกครั้ง ได้แนะนำมิสเตอร์เปปเปว่าพระสถูปทางพระ พุทธศาสนาแห่งนี้น่าจะเป็นพระสถูปโบราณที่มีความสำคัญยิ่ง และหากมีสิ่งใดบรรจุไว้ในพระสถูปนี้ คงจะอยู่ในช่องตรงกลางลึกต่ำลงไปเสมอ พื้นดิน จากคำแนะนำดังกล่าวจึงเป็นแรงจูงใจให้มิสเตอร์เปปเป ทำการขุดสำรวจสถูปโบราณนั้นต่อไป
ในวันที่ 20 เดือนมกราคม ร.ศ. 116 เมื่อ มิสเตอร์ เปปเป ขุดรื้อสำรวจพระสถูปโบราณนั้นจากตรงกลางยอดลึกลงไป 10 ฟุต ได้พบท่อกลมก่อด้วยอิฐปากกว้างราว 2 คืบ จึงขุดตามท่อกลมนั้นลงไปได้พบหีบศิลาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ทำจากหินทราย 1 หีบ ภายในหีบศิลามีผอบศิลา 3 ผอบ กับหม้อแก้ว 1 หม้อ เต็มไปด้วยข้าวของ เงิน ทอง เพชร พลอย และเครื่องประดับต่างๆ มากมาย เช่น รูปเครื่องหมายพระรัตนตรัย ใบไม้ และนก นอกจากนั้น ยังมีแผ่นทองคำตีตราเป็นสัญลักษณ์ต่างๆ ด้วย แต่สิ่งที่ทำให้มิสเตอร์เปปเปเกิดความตื่นเต้นมากที่สุด คือ ภาย ในหีบศิลาหินทรายมีผอบบรรจุอัฐิธาตุ ประมาณสักฟายมือหนึ่ง (one handful) และที่ผอบใบที่บรรจุอัฐิธาตุนั้น มีข้อความจารึกด้วยอักษรพราหมีโบราณ อันเป็นภาษาที่ใช้มาก่อนพุทธกาล
จาก การตรวจสอบจารึก พบว่าเป็นอักษรโบราณมีอายุมากกว่า 300 ปี ก่อนคริสต์ศักราช คือ เป็นภาษาที่จารึกมาแล้วประมาณ 2,198 ปี ก่อนการขุดพบ ซึ่งเก่ากว่าภาษาที่ใช้จารึกเสาอโศก ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ที่เคยขุดพบมาแล้ว นักภาษาศาสตร์เชื่อว่า น่าจะเป็นภาษาที่ใช้ในสมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ หรือหลังจากนั้นก็ไม่น่าจะเกินพุทธศตวรรษที่ 2-4 ข้อความจารึกที่ผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแปลความได้ว่า

" ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้านี้ เป็นของตระกูลศากยราช ผู้มีเกียรติงาม กับพระภาตา พร้อมทั้งพระภคินี พระโอรส และพระชายา สร้างขึ้นอุทิศถวายไว้"
จาก จารึกและข้อสรุปของนักภาษาศาสตร์นั้น ทำให้มิสเตอร์เปปเปมั่นใจได้ว่า อัฐิธาตุที่บรรจุอยู่ภายในผอบนี้เป็นพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่ง เป็น 1 ใน 8 ส่วนที่เจ้าศากยะได้รับไปในคราวแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ หลังการถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน
มิสเตอร์เปปเปจึงมีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าพนักงานภาษีเมืองบัสติ เจ้าพนักงานได้ส่งสำเนาหนังสือของมิสเตอร์เปปเปต่อไปยังดอกเตอร์ วิลเลียม โฮย ข้า หลวงแขวงเมืองโครักขปุระ ดอกเตอร์โฮยได้ยื่นเรื่องต่อไปยังสมุหเลขานุการ รัฐบาลหัวเมืองอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือและเมืองโอธ แจ้งว่ามิสเตอร์เปปเป ได้ขุดสำรวจสถูปโบราณพบโบราณวัตถุและสิ่งของที่ล้ำค่า มีความยินดีจะยกให้พิพิธภัณฑ์อินเดีย และมอบให้รัฐบาลเป็นผู้จัดการตามเห็นสมควร โดยตนขอเก็บสิ่งของบางอย่างไว้เป็นที่ระลึก ข่าวคราวที่มิสเตอร์เปปเปขุดค้นพบพระบรมสารีริกธาตุได้รับการตีพิมพ์ทางหน้า หนังสือพิมพ์และได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง
ใน การนี้ดอกเตอร์โฮย ได้เขียนบทความเกี่ยวกับการขุดค้นพบพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธ เจ้า พร้อมทั้งคำอ่าน และคำแปลอักษรโบราณ ซึ่งจารึกที่ผอบลงในหนังสือพิมพ์ชื่อว่า ไพโอเนีย ฉบับวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 116 โดยระบุว่าเป็นการค้นพบครั้งประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งเลยที่เดียว และ ดอกเตอร์ ยี บือห์เลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณได้แปลคำจารึกขึ้นใหม่ ให้ชื่อว่า "คำจารึกศักยราช" ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รอยัลเอเชียติก โซไซอตี เดือนเมษายน ร.ศ. 117
ต่อมา นายมารควิส เคอร์ชัน ผู้ ดำรงตำแหน่งอุปราชครองประเทศอินเดีย ซึ่งเคยเข้ามารับราชการอยู่ในกรุงเทพฯและมีความคุ้นเคยกับรัชกาลที่ 5 มาก่อน เห็นว่า พระบรมสารีริกธาตุนั้นเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาวพุทธ จึงควรมอบคืนให้เป็น สมบัติของชาวพุทธ และนายมารควิส เคอร์ชันเห็นว่า พระมหากษัตริย์ที่ทรงนับถือพระพุทธศาสนาสมัยนั้น ก็มีแต่พระเจ้ากรุงสยามเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น รัฐบาล อินเดียจึงมีความประสงค์ที่จะทูลเกล้าฯ ถวายพระบรมสารีริกธาตุแด่รัชกาลที่ 5 พร้อมให้ฝ่ายไทยส่งผู้แทนเป็นคณะราชทูตไปรับ และขอให้รัชกาลที่ 5 แบ่งพระบรมสารีริกธาตุแก่ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาต่างๆ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุขุมนัยวินิต( ปั้น สุขุม) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช เป็นผู้ออกไปรับพระบรมสารีริกธาตุ ณ ประเทศอินเดีย โดยออกเดินทางออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 มกราคม ร.ศ. 117 (พ.ศ. 2441) ถึง เมืองสิงคโปร์วันที่ 20 มกราคม พักอยู่ที่สิงคโปร์ 3 วัน เพื่อคอยเรือเมล์ที่จะออกดินทางไปกัลกตา จากนั้นเดินทางต่อไปจนถึงอินเดียในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 117 รัฐบาลอินเดียได้ให้การต้อนรับคณะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากสยาม ประเทศเป็นอย่างดี และได้ทำพิธีมอบพระบรมสารีริกธาตุในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 117 พระยาสุขุมนัยวินิต( ปั้น สุขุม) พร้อมด้วยหลวงพินิจอักษร อัญเชิญพระเจดีย์กาไหล่ทองคำ ซึ่งพระราชทานจากกรุงเทพฯ เข้าสู่มณฑลพิธี ดอกเตอร์โฮย ข้า หลวงแขวงเมืองโครักขปุระ ตัวแทนฝ่ายอินเดียอ่านคำมอบพระบรมสารีริกธาตุ ท่ามกลางข้าราชการ ทั้งพวกผู้ดีชายหญิงซึ่งมาประชุมกันเป็นจำนวนมาก โดยมีทหารยืนเป็นกองเกียรติยศ 24 คน ต่อจากนั้น พระยาสุขุมนัยวินิต ตัวแทนจากสยามกล่าวขอบคุณ
ครั้นถึงเวลาบ่าย 5 โมงวันเดียวกัน คณะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากสยามประเทศ ได้ออกเดินทางกลับ ถึงเมืองตรังในวันที่ 2 มีนาคม ร.ศ. 117 ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นบุษบกแห่ผ่านเมือง ตรัง พัทลุง สงขลา แต่ ละเมืองที่ผ่านมา มีประชาชนเข้าร่วมขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุและสักการบูชา ด้วยดอกไม้ ธูปเทียน แก้วแหวน เงินทองมากมาย แสดงให้เห็นถึงความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชนในแต่ละเมืองได้เป็นอย่าง ดี จากนั้น ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุลงเรือหลวงต่อไปยังเมืองสมุทรปราการ

ครั้น ถึงเมืองสมุทรปราการในวันที่ 15 มีนาคม ร.ศ. 117 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้นำพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานในพระวิหาร เกาะพระสมุทรเจดีย์ ทำการฉลองเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน แล้วจัดขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุเดินทางมากรุงเทพมหานคร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่เจดีย์บรมบรรพต ภูเขาทอง วัดสระเกศ ในวันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2442 (ร.ศ. 118) และได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุแก่ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาต่างๆ เช่น พม่า ลาว ลังกา ญี่ปุ่น ไซบีเรีย เป็นต้น ตามความประสงค์ของรัฐบาลอินเดีย
ฝ่าย รัฐบาลญี่ปุ่นนั้น ได้คัดเลือกตัวแทนคณะสงฆ์ญี่ปุ่นจากพุทธนิกายต่างๆ ไปยังสยามประเทศ เพื่ออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมายังประเทศญี่ปุ่น โดยได้ ประกอบพิธีพระราชทานที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2443 คณะสมณทูตญี่ปุ่นได้กราบบังคมทูลว่า มี ความประสงค์จะสร้างเจดีย์และวัดขึ้นใหม่เป็นการเฉพาะ เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และเพื่อเป็นสัญลักษณ์การรวมนิกาย ต่างๆ ของคณะสงฆ์ญี่ปุ่น
พระองค์ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อสร้างพระเจดีย์และวัดใหม่ตามความประสงค์ของคณะสงฆ์ญี่ปุ่นนั้นด้วย ใน การนี้ พระองค์ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระพุทธรูปโบราณไปด้วย พระพุทธรูปองค์นี้งามวิจิตรพิสดาร ชาวญี่ปุ่นถือว่าเป็นศิลปะคู่บ้านคู่เมืองญี่ปุ่น เพราะเป็นหลักฐานทาง ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น สมัยรัชกาลที่ 5
เมื่อ คณะสมณทูตกลับมาจากประเทศสยาม ได้ปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างรัฐบาล คณะสงฆ์ญี่ปุ่นจากนิกายต่างๆ ตลอดจนพุทธศาสนิกชน แล้วตกลงเลือกสร้างวัด และพระเจดีย์ที่เมืองนาโงย่า เพราะนอกจากชาวเมืองเรียกร้องต้องการมากที่ สุดแล้ว เมืองนาโกย่า ยังเป็นเมืองมรดกทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นที่ตั้งปราสาทนาโกย่าอันเก่าแก่ของโชกุน จึงทำให้เกิดวัดนิ ไทยจิ (วัดไทย -ญี่ปุ่น) ขึ้นที่เมืองนาโงย่า เมื่อ พ.ศ. 2447
สำหรับ สถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุนั้น ศาสตราจารย์ซูดะ อีโต แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียวเป็นผู้ออกแบบ และสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2451 พระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุองค์นี้ ถือกันว่ามีความงดงามเป็นพุทธสถาปัตยกรรม ซึ่งออกแบบโดยศิลปินผู้มีชื่อเสียง ชาวญี่ปุ่น
พระ วิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งรับพระราชทานมาจากประเทศสยามนั้น ได้ บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2508 เมื่อทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลย เดช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระพุทธรูป ภปร. เพิ่มมาอีกองค์หนึ่ง พร้อมทั้งทรงถวายพระนาม พระพุทธรูป สมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อช่างจารึกลงบนไม้ด้วยลายจำหลักทองว่า "พระพุทธศากยมุนี" โดยมีพระปรมาภิไธยย่อของพระองค์และของพระบรมอัยกาธิราชประกอบอยู่ด้วย
วัด นิไทยจิจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศ โดยที่ประชาชนชาวญี่ปุ่นถือกันว่า วัดนี้เป็นวัดพิเศษ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่แท้จริงแห่งองค์พระศากยมุนีพุทธเจ้า เป็นที่รวมนิกายต่างๆ และเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักความสามัคคีแห่งคณะสงฆ์ญี่ปุ่น



















วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พระปัญญาวัฑโฒ (๑๙ ตุลาคม ๒๔๖๘ - ๑๘ สิงหาคม ๒๕๔๗)

พระอาจารย์ปัญญา ปัญญาวัฑโฒ
Pannavaddho

(Peter J. Morgan)

1926 – 2004
วัดป่าบ้านตาด
ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี

ท่านเป็นชาวอังกฤษ  
นามเดิม ชื่อ  ปีเตอร์ จอห์น นามสกุล มอร์แกน (PETER J. MORGAN)
บิดา จอห์น วอตคิน นามสกุล มอร์แกน ( J. W. MORGAN )
มารดา ไวโอเลต แมรี่ นามสกุล มอร์แกน ( V. M. MORGAN )
ชาติกาลวันจันทร์ที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๘ ขึ้น ๓ ค่ำเดือน ๑๒ ปี ฉลูา
สถานที่เกิด ณ ประเทศอินเดีย ในเหมืองทองโคลาร์ รัฐไมซอร์  (ปัจจุบันเรียกว่า การ์นาตากะ) ภาคใต้ของอินเดีย
ที่อยู่ ณ  ประเทศอังกฤษ ที่ตำบล บริน อำเภอ แลนเนลี กรุงลอนดอน
พี่น้อง ท่านมีพี่น้องร่วมท้องมารดาเดียวกันทั้งหมด ๓ คน ชาย ๒ คน หญิง  ๑ คน ท่านเป็นบุตรคนโต
วิทยฐานะ จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จากฟาราเดย์เฮาส์  วิทยาลัยเทคนิค ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
อาชีพ วิศวกรไฟฟ้า

ท่านใช้ชีวิตเป็นฆราวาสอยู่ ๓๐ ปี โดยไม่ได้แต่งงาน

บรรพชา เมื่ออายุได้ ๓๐ ปี ท่านได้ตัดสินใจบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่  ๓๑ ตุลาคม ๒๔๙๘ ณ พุทธวิหาร กรุงลอนดอน (ซึ่งรัฐบาลศรีลังกาสร้างไว้)  โดยมีพระกปิลวัฑโฒภิกขุ (ซึ่งเป็นพระชาวศรีลังกา แต่บวชในประเทศไทย)  เป็นพระอุปัชฌาย์

อุปสมบท อายุ ๓๑ ปี พระอุปัชฌายะได้พาท่านเข้ามาในประเทศไทย  โดยได้อุปสมบทในคณะมหานิกาย เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๔๙๙ โดยมี  พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด จนฺทสโร) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ  กรุงเทพฯเป็นพระอุปัชฌาย์  ท่านได้ศึกษาวิชชาธรรมกายกับหลวงพ่อสดอยู่ระยะหนึ่งเดือนก รกฎาคมปีนั้นเอง  ได้เดินทางกลับประเทศอังกฤษ พักจำพรรษาอยู่ที่พุทธวิหาร ในกรุงลอนดอน  เป็นเวลากว่า ๕ ปี พ.ศ.๒๕๐๔ ได้กลับมาประเทศไทยอีกครั้ง  โดยได้พำนักอยู่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ กรุงเทพมหานคร

อยู่วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๖  ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาข้อวัตรปฏิบัติในสำนักวัดป่าบ้านตาดครั้งแรก  ในความดูแลของ หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ต.บ้านตาด อ.เมือง  จ.อุดรธานี

อุปสมบทครั้งที่ ๒ อายุ ๓๙ ปี อุปสมบทซ้ำในฝ่ายธรรมยุตินิกาย  (ทำพิธีบวชซ้ำอีกโดยมิได้ลาสิกขา บทไปเป็นฆราวาสก่อน) เมื่อวันที่ ๒๒  เมษายน ๒๕๐๘ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ต.บางลำภู อ.พระนคร กรุงเทพมหานคร  ได้รับนามฉายา ภาษามคธว่า “ปญฺญาวฑฺโฒ” แปลว่า ผู้เจริญด้วยปัญญา  ครูบาอาจารย์และลูกศิษย์ลูกหาทั่วไปจึงได้เรียกชื่อท่านสั้นๆ ว่า  “ปัญญาๆ” ตั้งแต่นั้นมา (บวชพระพร้อมกันกับท่านพระ อาจารย์เชอร์รี่  อภิเจโต วัดป่าบ้านตาด) พระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน  (หรือพระสาสนโสภณ ราชทินนามในขณะนั้น) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจาจารย์ พระเทพญาณกวี พระอนุสาวนาจารย์ ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน

มรณภาพ เมื่อวันพุธที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ เวลา ๘.๓๐ น. ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๙ ปีวอก ณ วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี ด้วยโรคมะเร็งที่ลำไส้ สิริรวมอายุได้ ๗๘ ปี ๑๐ เดือนพอดี นับเป็นวันได้ ๒๘,๗๙๑ วัน อุปสมบทได้ ๓๙ พรรษา รวมเวลาที่ได้อยู่ ณ วัดป่าบ้านตาด เป็นเวลา ๔๑ ปี ( นับแต่ปี ๒๕๐๖)

ผลงานด้านสิ่งก่อสร้างภายในวัด

ศาลาใหญ่ด้านนอก
ศาลาด้านใน (ยกศาลาและปูพื้น)
ทางจงกรมหลวงตา
ตำหนักที่ประทับเจ้าฟ้าหญิง
เรือนที่พักข้าราชบริพาร
กำแพงวัด
ถังซีเมนต์เก็บน้ำใช้ภายในวัด
กุฏิที่พักผู้มาปฏิบัติธรรม
เมรุ
และอื่นๆ มากมาย

ผลงานด้านแปลหนังสือธรรมะ

1. THE DHAMMA TEACHING OF ACARIYA MAHA BOOWA IN LONDON
แปลจาก ท่านอาจารย์พระมหาบัวฯ ในกรุงลอนดอน หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นจากที่หลวงตาไปเมตตาโปรดชาวอังกฤษ เมื่อปีพ.ศ.  2517 และ หลวงปู่ได้ติดตามไปเป็นล่าม  เมื่อหลวงตาเทศน์เสร็จแล้วหลวงปู่จะเป็นผู้แปล

2. WISDOM DEVELOPS SAMADHI
แปลจาก กัณฑ์เทศน์ของหลวงตา

3. FOREST DHAMMA
แปลจาก กัณฑ์เทศน์ของหลวงตา

4. PATIPADA OR THE MODE OF PRACTICE OF VENERABLE ACHARN MUN
แปลจาก ปฏิปทาพระธุดงคกรรมฐาน สายพระอาจารย์มั่น

5. KHANDHAVIMUTTI SAMANGIDHAMMA
แปลจาก ขันธะวิมุติ สะมังคีธรรมะ
บทประพันธ์โดยพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ

6. VENERABLE ACARIYA KOW –A MEDITATION MASTER’S BIOGRAPHY
แปลจาก หนังสือประวัติหลวงปู่ขาว อนาลโย
โดยท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
(หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มสุดท้ายที่หลวงปู่แปล ได้สั่งกำชับให้พระตรวจให้เสร็จก่อนที่ท่านจะเข้ารักษาตัวที่ โรงพยาบาล ดังนั้นเล่มนี้จึงยังไม่มีการตีพิมพ์)


--------------------------------------------------------------------------------------------------




พระปัญญาวัฑโฒ (๑๙ ตุลาคม ๒๔๖๘ - ๑๘ สิงหาคม ๒๕๔๗)
เขียนโดย ส. ศิวรักษ์   
ภิกขุปัญญาวัฑโฒ เป็นพระภิกษุชาวอังกฤษ ที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ณ วัดปากน้ำภาษีเจริญ โดยมีพระมงคลเทพมุนี (สด) เป็นพระอุปัชฌาย์ แต่ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ นับว่าท่านเป็นพระมหาเถระที่มีพรรษายุกาลยิ่งกว่าพระฝรั่งรูปใดในประเทศนี้ หรือที่ประเทศอื่นๆ ในโลกเอาเลยก็ว่าได้ เมื่อท่านมรณภาพลงเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๔๗ ที่วัดป่าบ้านตาด อุดรธานีนั้น ท่านบวชมาได้ ๔๖ พรรษา ย่าง ๔๗ พรรษาเอาเลยด้วยซ้ำ

ท่านปัญญาวัฑโฒ เดิมชื่อ Morgan ปู่ของท่านเคยเป็นเจ้าอธิการมหาวิหารของนิกายอังกฤษแห่ง คริสตศาสนา (Dean of St. David’s Catheral) ในแคว้นเวลส์ คือท่านเองก็มีเชื้อสายเป็นชาวเวลส์ ดังที่ใน สหราชอาณาจักรนั้น คนอังกฤษหรือ British นั้น เป็น English ก็ได้ Welsh ก็ได้ หรือ Scots ก็ได้ โดยไม่นับถึง Irish ในไอร์แลนด์เหนือ


ท่านจบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ แต่เห็นว่าการครองเรือนและอาชีพการงานต่างๆ ออกจะไร้สาระ จึงแสวงหาทางออกจากวิถีชีวิตอย่างโลกๆ ที่เป็นไปเพียงเพื่อมีคู่ครอง มีลูกหลาน แล้วก็มีทรัพย์ศฤงคารบริวาร ทั้งหมดนี้ท่านเห็นว่าเป็นเรื่องเหลวไหล ไม่จิรังยั่งยืน

เผอิญท่านอ่านหนังสือชื่อ Buddhism by Christmas Hamphreys นายกพุทธสมาคมของอังกฤษในขณะนั้น ท่านทึ่งในเนื้อหาของหนังสือเล่มดังกล่าว จึงหาทางโยงใยไปพบพุทธศาสนิกชนชาวอังกฤษ ซึ่งในเวลานั้นยังมีเป็นจำนวนน้อย แล้วตั้งกลุ่มปฏิบัติธรรมขึ้นที่เมืองแมนเชสเตอร์ หาเวลาภาวนาให้จิตใจสงบ และรักษาศีล เพื่อไม่เอาเปรียบตนเองและผู้อื่น หวังที่จะได้แสงสว่างทางปัญญา

ณ ช่วงก่อนกึ่งพุทธกาลนั้น มีคนอังกฤษคนหนึ่ง ซึ่งออกบวชเป็นพระภิกษุมาแล้ว ได้รับสมณฉายาว่า กปิลวัฑโฒ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเป็นผู้นำสูง แม้จะไม่มีการศึกษามากนักก็ตาม ทั้งท่านยังมีโวหารกล้าทางด้านการแสดงธรรม จนนายมอร์แกนไปสมัครเป็นศิษย์ และใคร่ติดตามพระกปิลวัฑโฒมาบวชที่เมืองไทยในปี ๒๕๐๐

พระกบิลวัฑโฒต้องการตั้งคณะสงฆ์ขึ้นในอังกฤษ ชักชวนชาวอังกฤษมาบวชกับท่านที่วัดปากน้ำถึง ๔ รูป รวมท่านด้วยเป็น ๕ หากท่านทั้งห้านี้ทรงพรหมจรรย์ต่อไป จนท่านกปิลวัฑโฒบวชได้ครบ ๑๐ พรรษา ท่านทั้งห้านี้ย่อมให้บรรพชาอุปสมบทในอังกฤษได้ตามพระวินัย แม้บางท่านที่มาบวช ณ วัดปากน้ำจะเป็นชาวอินเดียตะวันออก (East Indies) ที่มีผิวดำก็ตามที หากทุกท่านถือสัญชาติอังกฤษ

ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เรามีพระกปิลวัฑโฒเป็นตัวตั้งตัวตีที่จะก่อให้เกิดคณะสงฆ์ขึ้นในอังกฤษ ดังที่ในปี ๒๔๗๕ เราก็มีพระโลกนาถ ชาวอเมริกันเชื้อสายอิตาเลียน ที่เข้ามาเมืองไทย ชักชวนพระหนุ่มเณรน้อยให้จาริกด้วยเท้าเปล่าไปยังชมภูทวีป เพื่อบูชามหาสังเวชนียสถานทั้งหมด แล้วก็จะยาตราไปยังกรุงโรม เพื่อโน้มน้าวพระสันตปาปา ประมุขแห่งนิกายโรมันคาทอลิก ให้มาสมาทานพุทธศาสนา และแล้วพระฝรั่งทั้งสองรูปนี้ก็ล้มเหลวทั้งคู่ อย่างน้อยพระโลกนาถได้ถอยกองทัพธรรมมาตั้งมั่นอยู่รูปเดียวในพม่า จนเพิ่งมรณภาพไปเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง หากท่านถือมังสวิรัตเคร่งครัด และมีอาจารย์กรุณา กุสลาศัยเป็นศิษย์ก้นกุฏิท่าน แต่ปี ๒๔๗๕ จนบัดนี้

สำหรับพระกปิลวัฑโฒที่นำคนทั้ง ๔ มาบวช ณ วัดปากน้ำภาษีเจริญในปี ๒๕๐๐ นั้น สึกหาลาเพศกันไปหมด รวมทั้งท่านกปิลวัฑโฒด้วย เหลือแต่ท่านปัญญาวัฑโฒรูปเดียว

เมื่อบวชแล้วไม่นาน ท่านปัญญาวัฑโฒย้ายจากเมืองแมนเชสเตอร์มาจำพรรษในกรุงลอนดอน โดยพุทธมามกชนชาวอังกฤษในราชธานีแห่งนั้นตั้ง Sangha Trust ขึ้น เป็นดังมูลนิธิที่อุดหนุนให้เกิดคณะสงฆ์ในสหราชอาณาจักร แต่ท่านอยู่ของท่านรูปเดียว เจริญสมาธิภาวนาเป็นส่วนใหญ่ ไม่รับกิจนิมนต์ใดๆ โดยที่เวลานั้นลอนดอนมีพุทธสมาคมของฆราวาสชาวอังกฤษ ๑ และมีพุทธวิหารของชาวสิงหฬที่นิมนต์พระมาจากลังกาทวีปไปอยู่อีก ๑

ในช่วงหลัง พ.ศ. ๒๕๐๐ ข้าพเจ้าเข้าไปทำงานในลอนดอนและเรียนที่เนติบัณฑิตยสภาของอังกฤษ จึงมีโอกาสไปพบท่านปัญญาวัฑโฒ ซึ่งปรารถนาจะเรียนภาษาไทย คือท่านประสงค์จะกลับไปเมืองไทย เพื่อแสวงหาครูบาอาจารย์ที่เป็นพระป่า ซึ่งพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงอาสาไปสอนภาษาไทยถวายท่านแทบทุกสัปดาห์

ในตอนนั้น มีนักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษคนหนึ่งต้องการไปบวชเพื่อปฏิบัติธรรมกับท่านพระอาจารย์ขาว ผู้เคยได้รับอาราธนาให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ ซึ่งเพิ่งแรกสร้าง หากท่านไม่รับตำแหน่งดังกล่าว จึงตกไปเป็นของท่านปัญญานันทะ

เมื่อชาวอังกฤษคนนี้ มาบวชที่เมืองไทย เขาได้สมเด็จพระสังฆราช (อยู่) วัดสระเกศ เป็นพระอุปัชฌาย์ แต่เมื่อยังทรงเป็นเพียงสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ได้รับฉายาว่า ชุตินธโร เมื่อสึกหาลาเพศแล้ว 

ข้าพเจ้าก็ได้คุ้นเคยกับเขา ซึ่งคงจะแนะนำให้ท่านปัญญาวัฑโฒไปพัก ณ วัดชลประทานรังสฤษฏ์ เมื่อท่านหวนกลับมาเมืองไทยในปลายปี พ.ศ. ๒๕๐๔

ข้าพเจ้าเองก็กลับเมืองไทยในระยะใกล้ๆ กับท่าน และไปเยี่ยมท่านที่วัดชลประทานฯ อยู่เนืองๆ ตัวท่านเองแสวงหาครูอาจารย์อยู่นาน ข้าพเจ้าแนะนำท่านอาจารย์พุทธทาสที่สวนโมกข์ แต่ท่านไม่ต้องการ ท่านหาว่าสวนโมกข์เน้นทางทฤษฎีมากเกินไป ท่านต้องการปฏิบัติธรรมล้วนๆ 

อยากได้พระป่าเป็นครูบาอาจารย์ จนท่านได้ไปพบพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน ที่จันทบุรีนั้นแล ที่ท่านตัดสินใจว่านี่แลคือพระอาจารย์ในอุดมคติของท่าน แม้ภาษาไทยของท่านจะไม่ดีพอถึงขนาดเข้าใจคำสั่งสอนภาษาไทยได้อย่างลึกซึ้งก็ตามที

พระอาจารย์มหาบัวดำริจะย้ายไปตั้งหลัก ณ วัดป่าบ้านตาด อุดรธานี แทนจาริกไปตามที่ต่างๆ อย่างแต่ก่อน เพราะโยมมารดาแก่ชรา ท่านต้องการอนุเคราะห์บุพการิณี ท่านปัญญาวัฑโฒจึงตามไปยังวัดนั้น ทั้งๆ ที่เวลานั้นชาวกรุงเห็นกันว่าอุดรธานีอยู่สุดหล้าฟ้าเขียว ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปส่งท่านที่วัดนั้นด้วยในปี พ.ศ. ๒๕๐๕

ท่านปัญญาวัฑโฒอยู่ที่วัดนั้นตลอดมา แม้จะเดินทางไปยังที่อื่นๆ บ้าง ก็เป็นการชั่วคราว ทางอังกฤษอาราธนาให้ท่านกลับไปตั้งคณะสงฆ์ขึ้น แต่ท่านก็ปฏิเสธ แม้ท่านจะเคยพาท่านอาจารย์มหาบัวไปอังกฤษด้วยกันครั้งหนึ่งด้วยแล้วก็ตาม ทางอังกฤษจึงเปลี่ยนใจ ขอให้ท่านอาจารย์ชา สุภัทโท แห่งอุบลราชธานี ส่งพระอาจารย์สุเมโธไปตั้งสมณวงศ์ที่ประเทศนั้นแทน จนเป็นปึกแผ่นอยู่ทั้งที่อังกฤษและประเทศอื่นๆ พระอาจารย์สุเมโธเองก็ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ จนได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชสุเมธาจารย์ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ณ วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๗ นี้

ท่านปัญญาวัฑโฒไม่ยอมรับสมณศักดิ์ ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย เน้นที่สมาธิภาวนาอย่างพระป่าแท้ๆ แม้ท่านจะอยู่วัดธรรมยุตโดยได้บวชมาในคณะมหานิกาย ต่อภายหลังท่านจึงบวชแปลงเป็นธรรมยุติ ที่วัดบวรนิเวศ โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวัฑโน) เป็นพระอุปัชฌาย์

เจ้าคุณพระญาณวโรดม (สนธ์ กิจฺจกาโร) แห่งวัดบวรนิเวศ พูดชมอยู่เสมอว่า ท่านปัญญาวัฑโฒเป็นพระที่แท้ คือท่านมุ่งเพียงมรรคผลนิพพาน อย่างไม่สนใจในเรื่องโลกธรรมเอาเลย

ท่านไม่เขียนและแทบไม่เทศน์ หากแปลพระธรรมเทศนาของท่านพระอาจารย์ของท่านเป็นภาษาอังกฤษ ดังท่านเคยมอบให้ข้าพเจ้านำไปตีพิมพ์เป็นเล่มชื่อ Forest Dhamma

ที่วัดป่าบ้านตาดนั้น ท่านเป็นพระผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านและเพื่อนสหธรรมิกทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศอย่างแท้จริง

แม้ท่านจะเป็นวัณโรคที่เท้ามาแต่หนุ่ม แต่ก็ออกบิณฑบาตได้ หากต้องไม่ไกลนัก โดยท่านไม่สะสมวัสดุสิ่งของใดๆ ชีวิตของท่านเป็นไปอย่างเรียบง่าย สมกับความเป็นสมณะ ท่านมุ่งเจริญจิตสิกขา และรักษาศีลสิกขาอย่างเคร่งครัด เพื่อเข้าถึงปัญญาสิกขา ด้วยภาวนามัยวิธี อย่างที่ควรแก่การเคารพสักการะยิ่งนัก

ทัศนคติทางโลกของท่านตีกรอบอยู่เพียงแค่วัดป่า ท่านไม่รู้อะไรยิ่งไปกว่านั้น และท่านเคารพครูบาอาจารย์อย่างปราศจากการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ เอาเลย ข้าพเจ้าเคยถามท่านเมื่อปีกลายว่า 

ท่านเห็นอย่างไร ที่วัดป่าบ้านตาด บัดนี้มีกิจกรรมมากมาย ไม่สงบเงียบดังแต่ก่อน ทั้งท่านพระอาจารย์มหาบัวก็กลายเป็นพระธรรมวิสุทธาจารย์ไปแล้ว โดยมีการเรี่ยไรกันจากทั่วประเทศ เอาเงินคนจนส่วนใหญ่ไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ท่านบอกว่า ไม่มีความเห็น และการที่พระอาจารย์มหาบัวมีกิจกรรมมากนั้นดี ช่วยให้ท่านอายุยืน หาไม่ท่านจะหงอยเหงานัก

การที่พระมีทัศนคติเช่นนี้ ก็นับว่าน่ารับฟัง แม้เราจะไม่เห็นด้วยกับท่านก็ตาม อย่างน้อยท่านปัญญาวัฑโฒก็เป็นพระดีและอยู่ที่ประเทศของเรามาเป็นเวลาถึงสี่ทศวรรษ นับว่าเป็นสิริมงคลกับบ้านเมือง โดยถือได้ว่าท่านเป็นศรีของพระศาสนาอย่างแท้จริง